วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โรคซึมเศร้า เราเป็นอยู่หรือเปล่านะ ?



ตรวจสอบง่ายๆ จากคำถามเหล่านี้


ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ให้ลองถามตัวเองด้วยคำถาม 15 ข้อต่อไปนี้
ถ้าตอบว่า "มี" ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป หมายถึงมีภาวะซึมเศร้า ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือพบแพทย์ ขณะที่คนใกล้ชิดต้องคอยสังเกตด้วย
1.รู้สึกจิตใจหม่นหมองหรือไม่ (เกือบตลอดทั้งวัน)

2.รู้สึกเป็นทุกข์จนอยากร้องไห้

3.รู้สึกหมดอาลัยตายอยาก

4.รู้สึกไม่มีความสุข หมดสนุก กับสิ่งที่เคยชอบและเคยทำ
5.รู้สึกผิดหวังในตนเอง และโทษสิ่งที่เกิดขึ้น

6.รู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง

7.รู้สึกอยากอยู่คนเดียวไม่อยากสุงสิงกับใคร

8.รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า

9.คิดอะไรไม่ออก
10.หลงลืมง่าย

11.คิดอะไรได้ช้ากว่าปกติ

12.ทำอะไรอืดอาด เชื่องช้ากว่าปกติ

13.รู้สึกอ่อนเพลียง่ายเหมือนไม่มีแรง

14.รู้สึกเบื่ออาหาร กินได้น้อยกว่าเดิม

15.นอนหลับๆ ตื่นๆ หลับไม่สนิท

โรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน สาเหตุที่จะกระตุ้นอาการป่วยคือ ความเสี่ยงทางพันธุกรรม สภาพจิตใจ และเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย
ลักษณะของคนที่ป่วย มักจะชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ย้ำคิดย้ำทำ เชื่องช้า ซึม เก็บตัว ชอบพูดเปรยว่าถ้าไม่มีเขาอะไรคงจะดี และพูดสั่งเสียอยู่เรื่อยๆ

ผู้ป่วยจะมีอาการหนักราว 2-3 เดือน ถือเป็นช่วงอันตรายที่สุด เพราะมีโอกาสคิดสั้นฆ่าตัวตายสูงมาก หากมีเรื่องกระทบจิตใจเพียงนิดเดียว แต่ถ้าพ้นช่วงนี้ไปได้ก็จะกลับสู่ภาวะปกติซึ่งอาการของโรคจะกำเริบเมื่อไรไม่มีใครรู้ล่วงหน้า บางคน 1-2 ปี บางคนเพียง 6 เดือนแต่ถ้ารู้ว่าตัวเองป่วยก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการเข้าพบจิตแพทย์และกินยาตามแพทย์สั่ง
มีผู้ที่ฆ่าตัวตายมากถึงร้อยละ 60 ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยคนที่เป็นโรคนี้เมื่อประสบกับความผิดหวังหรือปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ความรัก หรือการศึกษา ผู้ป่วยจะคิดฆ่าตัวตายได้ง่ายกว่าคนปกติ 3 เท่า
จากการสำรวจประชากรไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึงร้อยละ 5 หรือกว่า 3 ล้านคน ยังไม่รวมถึงคนที่ไม่รู้ตัวเองว่าป่วย และโรคนี้มีการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรมจากพ่อแม่สู่ลูกอีกด้วย
เมื่อตรวจสมองจะพบความผิดปกติของสารเคมีชื่อ เซโรโทนิน มีปริมาณลดลง ทำให้รู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการทำงานลดลง
การเลี้ยงดูก็มีส่วน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเอง มองตนเองและโลกในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่ายเมื่อเจอมรสุมชีวิต ทำให้มีโอกาสป่วยง่ายขึ้น
การช่วยเหลือด้านจิตใจเบื้องต้น เนื่องจากผู้ป่วยมักมีแนวคิดในแง่ลบมองว่าตนเองอาการหนัก เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ไม่มีใครเป็นแบบตน
แพทย์จะบอกว่า ปัญหานี้พบได้เยอะ การที่ผู้ป่วยมีแนวคิดในแง่ลบ สนใจร่างกายตนเองมากกว่าปกติทำให้ดูอาการมีมากขึ้น เมื่อโรคซึมเศร้าดีขึ้นอาการทางร่างกายเหล่านี้จะดีขึ้นตาม
ในปัจจุบันโรคนี้รักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน
ต้องการได้รับคำปรึกษา โทร. 1667 สายด่วนกรมสุขภาพจิต




ไม่มีความคิดเห็น: